15.11.11

:: เชือกที่มองไม่เห็น ::


เมื่อครั้งจำความได้ ฉันคิดว่า...
 ทั้งโลกนับถือศาสนาและพูดภาษาเดียวกัน
 จนในที่สุดจึงได้เข้าใจว่า ... มันไม่ใช่อย่างที่คิด ... เจ้าเด็กน้อย ! 

อาจเป็นเพียงความไร้เดียงสาประกอบกับความคิดในวัยเด็กที่มองเห็นแต่สิ่งสวยงาม ทุกเรื่องราวมีแต่ความสนุกสนาน ให้เหตุผลกับสิ่งต่าง ๆ เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ตอบคำถามข้อฉงนสงสัยตามความคิด ความเข้าใจ(ของตัวเอง)ในขณะนั้น จนกระทั่งได้เติบโตขึ้นมาอีกสักเล็กน้อย สังคมใหญ่ในโลกที่หมุนรอบตัวเอง(เขาเชื่อกันว่าอย่างนั้น)ได้ให้แง่คิดใหม่อยู่ตลอดเวลาตามอายุขัย นับตั้งแต่สังกัดอยู่บนโลกใบนี้ในฐานะประชากรทางช้างเผือก กลุ่มก้อนฝุ่นผงทางความคิดได้เกาะกลุ่มรวมตัวกันอย่างหนาแน่นผสานขึ้นเป็นความคิด(นึกเอาเอง)แบบสรุปเดา คำถามไม้จิ้มฟันยันโลกแตกประดาเข้ามาเกาะกลุ่มในเมฆหมอกแห่งความสงสัยใคร่รู้


แต่แล้วในความคิดของฉัน ในระหว่างช่วงอายุนี้(อาจเปลี่ยนไปได้อีกตามข้อมููลใหม่และความเข้าใจที่มากขึ้น)มองว่าสังคมตั้งแต่ระดับเล็กย่อย นับตั้งแต่การเกิดเป็นมนุษย์ เติบใหญ่เป็นทารกก็ต้องอาศัยกับพ่อ-แม่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเลี้ยงดู และนั่นคือ สถาบันแรกที่ฉันสังกัด



ถัดจากนั้นคือญาติพี่น้อง(ปลีกย่อยลงอีก ปู่ ย่า ตา ยาย บรรดาวงศาคณาญาติ)พอเติบโตขึ้นก้าวเข้าสู่สังคมโรงเรียนจึงมีเพื่อนฝูง มิตรสหาย นับเป็นอีกสังคมหนึ่ง ซึ่งเราันั้นมักจะให้ความสำคัญเฉพาะกับคนรู้จักเท่านั้น(เห็นได้จากคนส่วนใหญ่มักไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้า)จนถึงช่วงที่สำเร็จการศึกษาภาคบังคับต่างแยกย้ายตัวเองเข้าสู่สังคมอย่างเต็มตัว เิกิดเป็นสังคมใหญ่ ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมา อาทิ หมอ-พยาบาล มีหน้าที่รักษาคนไข้ ครู-อาจารย์ อบรมสั่งสอนศิษย์ ทหาร ตำรวจ ดูแลประชาชนและประเทศชาติ เป็นต้น  ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างของสถาบันทางสังคม ที่ผูกโยงให้บุคคลรู้สึกเคารพ นับถือต่อหน้าที่ของตนเอง เห็นได้จากการปลูกฝังของสถาบันต่าง ๆ เป็นต้นว่าหมอ-พยาบาล ตำรวจ-ทหาร ครู-อาจารย์ เหล่านี้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพ เห็นได้ชัดเจน คือ อาชีพทหารที่มีการปลูกฝังค่านิยมให้รักชาติ รักแผ่นดิน ปกป้องอธิปไตยของชาติไม่ให้ใครมารุกราน ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้(ไม่ได้กล่าวนอกเรื่องแต่ประการใดแต่เป็นการอธิบายโครงข่าย-โยงใยของสถาบันทางสังคม)ที่เป็นเบ้าหล่อหลอมคนในสังคมปลูกฝังค่านิยมเหล่านี้ต่อเยาวชน รุ่นแล้วรุ่นเล่า จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อต่อความคิดเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น เรื่องที่พยายามจะอธิบายก็คือ สถาบันของสังคมเหล่านี้ เปรียบเสมือนสายโยงใย-เส้นเชือกที่ผูกโยงผู้คนในสังคม ลองนึกภาพตาม คือ คนหนึ่งคนผูกเชือกหลายเส้นในสถาบันทางสังคมที่ตนนั้นสังกัดอยู่(ซึ่งอาจเหมือนหรือต่างกัน)ก็ได้ในหนึ่งคนนั้น ๆ หากก้าวถอยหลังจะเห็นอีกว่า เชือกที่ผูกกันเหล่านั้น มัดเป็นเส้นสายระโยงระยางไปทั่วสารทิศ รอบ ๆ ตัวเราจนอุตลุด เช่น ตำรวจ-ทหาร เชือกเส้นแรกที่ผูกโยงเขาไว้นั้น คือ ครอบครัว โรงเรียน กองทัพ อำนาจ หน้าที่ สังคม หลักการ พลเมือง ข้าราชการ ประเทศชาติ อธิปไตย ฯลฯ ซึ่งเชื่อมโยงผู้คนในสังคมเป็นหน่วยเดียวกัน(นอกจากศาสนาดังที่จะกล่าวต่อไป)กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ทุก ๆ คนในสังคมมีสถาับันที่ตนได้เข้าสังกัด รักและหวงแหนสิ่งของอันเป็นตนเอง จึงกล่าวได้ว่าศาสนา เปรียบเสมือนเชือกเส้นหนึ่ง เส้นนั้นด้วยที่ทุกคนผูกไว้กับมือของตนเอง ด้วยเหตุที่เดิมมีความคิดว่า "ทั้งโลกนับถือศาสนาและพูดภาษาเดียวกัน" จึงเป็นเรื่องน่าหัวเราะเมื่อมองย้อนกลับไปตอบข้อสงสัยในวัยเด็กของตัวเอง เนื่องจากแท้ที่จริงแล้ว เมื่อเดินย้อนตามทางจะสามารถประติดประต่อภาพได้ว่า 

"ยิ่งเรานั้นมีสถาบันทางสังคมมากเท่าไหร่นั้น
เรายิ่งมีความหวงแหน มุ่งทะนุบำรุง รักษาไว้
แต่นั่นกลับเป็นสาเหตุทำให้เรานั้นแตกแยกแบ่งเขา แบ่งเราเพราะต่างฝ่าย ต่างไม่ยอมให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีสถาบันทางสังคมที่เคารพนับถือแตกต่างจากตนเองเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือทำลายสถาบันที่ตนนั้นได้ปกป้อง ยึดมั่น ยึดถือ (ครอบครัว(พ่อ แม่ พี่น้อง ปู่-ย่า ตา-ยาย) บ้าน ที่ดิน อาณาเขต ดินแดน หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ประเทศ-ชาติ อธิปไตย โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา ครู-อาจารย์ เพื่อน องค์กร ศาล อาชีพเพื่อนสนิท บุคคล ชนชั้น พลเมือง ชาติตระกูล วัฒนธรรมท้องถิ่น ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ รูปแบบการปกครอง ทรัพย์สินมรดก สามี-ภรรยา บุตร-ธิดา คนรัก หน้าที่พลเมืองตำรา สุภาษิต ดาราที่ชื่นชอบ ฯลฯ)


ยกตัวอย่าง ให้เข้าใจง่าย ๆ เช่น

:: นักวิชาการเกิดความรู้สึกยึดมั่นในตำราที่ได้ศึกษามาจนไม่สามารถรับฟังข้อโต้แย้งจากผู้อื่น (เิกิดความคิดคลั่งวิชา สถาบัน ยึดติดกับนิยามหรือความรู้ที่ตนมีว่าเป็นสิ่งถูกต้องสูงสุด)

:: นักเรียนสายอาชีวะก่อเหตุใช้ปืนจ่อยิงนักเรียนโรงเรียนเทคโนแห่งหนึ่งในละแวกเดียวกัน เผยเป็นอริกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ (หลงคิดว่าสถาบันของตน คือ ความยิ่งใหญ่ที่สุด(สืบต่อเนื่องกันมา)นี่คือ เชือกที่ผูกติดเอาไว้อาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้)

:: ฮิตเลอร์สั่งฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว,นโยบายการเหยียดสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้(เชือกเส้นนั้นคือ การคิดว่าเผ่าพันธุ์ของตนอยู่เหนือกว่าหรือสูงกว่าเผ่าพันธุ์อื่น)


อันนำมาซึ่งปมปัญหาการก่ออาชญากรรม-ความขัดแย้งที่เห็นตามพื้นที่ข่าว หน้าสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์และความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองรายวัน



No comments:

Post a Comment