20.12.11

:: ให้รักเดินทางมาเจอกัน ::


ธรรมชาติย่อมสร้างสิ่งที่วิเศษที่สุดให้แก่มนุษย์
 จึงทำให้มนุษย์นั้นมีปากไว้เพื่อเป็นกระบอกเสียงและเรียกร้อง 
ปกป้องสิทธิอันพึงมีของตนเอง 

ท่ามกลางความขัดแย้งที่นับวันจะยิ่งคุกรุ่น ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะของสังคมไทย หรือแม้แต่สังคมโลกในภาพรวม จะเห็นได้ว่าบุคคล หรือกลุ่มบุคคลนั้น ๆ พยายามออกมาแสดงความคิดเห็นโต้ตอบแก่อีกฝ่ายตามทัศนะ แนวคิด ตรรกะทางความคิดของตนเอง ดังจะเห็นได้จากวิกฤตการณ์ความขัดแย้งหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ากีฬาสีภายในประเทศไทย

บุคคลแต่ละฝ่าย ต่างฝ่าย ต่างอ้างความชอบธรรมของตนเอง หยิบยกหาเหตุผลของตนเองขึ้นเกทับอีกฝ่ายหนึ่ง มุ่งแต่จะเอาชนะ ทัดทาน เข้าหักล้างอีกฝ่ายหนึ่งทุก ๆ ครั้ง ซึ่งเกิดเป็นความขัดแย้งและเส้นขนานที่ไม่มีวันจะมาบรรจบกันได้เลย (แม้คู่กรณีขัดแย้งด้วยนั้นจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ก็อาจจะยังหาข้อสรุปกันไม่ได้)

ผลตามมา คือ เกิดการเลือกข้างของอุดมการณ์ ความคิด ความเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันขึ้นอย่างชัดเจน(ซึ่งแท้จริงแล้วถือว่าเป็นปกติธรรมดาของการปกครองระบอบประชาธิปไตย) และผู้ที่อยู่ระหว่างกลางหรือ "เป็นกลาง" ไม่เป็นคู่ขัดแย้งกับฝ่ายไหนอย่างชัดเจน ถูกเรียกว่า "คนเห็นแก่ตัว" 

สำหรับข้าพเจ้ามองว่า การที่บุคคลหรือปัจเจกบุคคลหนึ่ง ๆ ไม่เลือกข้าง ฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งนั้นเป็นสิทธิของบุคคลนั้น ด้วยเหตุผลประการต่อมาว่าบุคคลนั้นอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งหมดกับอุดมการณ์ฝ่ายไหนเลย แต่อาจจะเห็นด้วยในบางประเด็นที่สามารถยอมรับได้

หากลองนึกภาพตามข้าพเจ้าว่า เมื่อจำต้องมีเหตุทะเลาะวิวาทหรือความขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้น คงจะไม่เป็นการฉลาดนักที่จะเอาตัวเองเข้าไปท่ามกลางของความขัดแย้งนั้น นั่นหมายความว่า ผู้ที่เลือกช่วยอีกฝ่ายหนึ่ง ย่อมจะเป็นอริศรัตรูกับอีกฝ่ายหนึ่งเช่นกัน ดังนั้นเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สนับสนุนให้เกิดความขัดแย้งนั้นด้วยโดยมิได้แสดงการป้องปรามหรือระงับอารมณ์ รับฟังข้อมูล ความเป็นมาเป็นไปอย่างที่สุภาพชนพึงมีเพื่อเป็นการระงับเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา

(ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองอาจจะโต้แย้งว่าหากมันคิดง่าย ทำง่ายเช่นที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็คงจะกอดคอจูบปากกันไปแล้ว)

ข้าพเจ้า : ข้าพเจ้าจึงอยากจะถามกลับด้วยความเคารพว่า ทำไม ! ท่านทั้งหลายถึงไม่ทำให้มันเป็นเรื่องง่ายซะล่ะ ? จะมัวคิดปริศนาปรัชญาอยู่ใยให้มันยากเย็น ก็เพียงแค่ท่านนั้นเดินเข้าไปคุยกัน เรื่องก็จบ (ง่ายใช่มั้ยล่ะ) ง่ายไปมั้ย!!!

ขอยกตัวอย่างกรณีครอบครัวหนึ่ง เมื่อมีเืรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเกิดขึ้นแต่ไม่พูดคุยทำความเข้าใจกัน จึงเิกิดรอยร้าวฉานในครอบครัวขึ้นได้ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน

มิใช่ว่าจะพูดจาแถลงการณ์ปาว ๆ ออกสื่ิ่อโจมตีขั้วตรงข้ามทางกา่รเมือง ประเดี๋ยวก็จะมีอีกฝ่ายออกมาตอบโต้ทันควัน โดยใช้สื่อเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ แย่งเนื้อที่ข่าวไปในตัวแกมยืมมือฟาดฟันคู่ต่อสู้ฝ่ายตรงข้าม โต้กลับกันไปมาอย่างที่มีให้เห็นทุกวี่ทุกวัน

จึงเกิดคำถามตามมาคณานับว่า...

ทำไม ! เราถึงไม่คุยกันเอง
หรือ เราไม่ใช่คนในบ้านเดียว เมืองเดียวกันอย่างนั้นหรือ !!!
ถ้าท่านทั้งหลาย ตอบว่า ใช่...แล้วทำไมไม่นั่งลงพูดคุยกัน
ลองมองว่าเราทั้งหมดล้วนพี่น้องกัน เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกัน มีพ่อคนเดียวกัน ฉันพี่น้อง ปรองดอง สมัครสมานสามัคคี (อย่าให้คำ ๆ นี้กลายเป็นเพียงคำพูดที่ฟังดูไพเราะ คล้องจอง แต่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ)  ลดช่องว่าง พังทะลายกำแพงความห่างเหินและความหวาดระแวงซึ่งกันและกันนั้นลงเสียให้สิ้น อาจจะช่วยให้เราเข้าใจกันได้ดีกว่านี้...

ประเด็นใหญ่ ๆ วิวาทะทางการเมืองก็น่าที่จะมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดีบง ดีเบต สนทนาซักถามข้อสงสัยกันได้บ้าง ส่วนหนึ่งเพื่อการแลกเปลี่ยนความคิด ถกแถลงณ์หาข้อสรุป เกิดเป็นฉันทามติร่วมกันของสังคมนำไปสู่การปลูกฝังจิตสำนึกความรู้สึกร่วมกันให้เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น แม้จะแตกต่างกับตนเอง (แต่ต้องเป็นเวทีสาธารณะโดยมีภาคประชาสังคม ประชาชนทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมด้วย) เชื่อว่าน่าจะคุญกันรู้เรื่องกว่าที่แล้วมา ลองนั่งลง ทำใจให้สบาย เปิดอกพูดคุยกันแบบเปิดใจ คลายทุกข้อกังขา ข้อสงสัย ข้อข้องใจ ความคับอกคับใจ ความไม่สบายใจ ความกังวลใจ (สังเกตว่าลงท้ายด้วย "ใจ" บางทีทุกสิ่งอย่างลงท้ายที่ใจเป็นสำคัญ) และสร้างจิตสำนึก เจตจำนงร่วมกันของพลเมือง ตกลงเราจะเดินหน้าประเทศนี้ไปอย่างไร อะไรที่ควรเร่งกระทำเป็นการด่วน เรียงลำดับก่อนหลัง คงช่วยให้เห็นทิศทางว่าจะนำพาประเทศชาติไปอย่างไรชัดเจนขึ้น

No comments:

Post a Comment